ธรรมเนียมการฉลองของญี่ปุ่น
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
(誕生から成人までのお祝い事)
สวัสดีค่ะ จะว่าไปตั้งแต่ชุฟุจังมาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น รู้สึกว่าได้เรียนรู้ธรรมเนียมญี่ปุ่นมากมาย ยิ่งพอมีลูกแล้วก็ยิ่งได้สัมผัสธรรมเนียมที่หลากหลายมากขึ้น
เมื่อเรามาอาศัยอยู่ญี่ปุ่น เราก็ต้องเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ดั่งสุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม 郷に入れば郷に従え(ごうにいればごうにしたがえ)” อ่านว่า โก นิ อิเระบะ โก นิ ชิตะกะเอะ
สำหรับบทความนี้ชุฟุจังขอหยิบยกเรื่องธรรมเนียมการฉลองของคนญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์มาแนะนำให้รู้จักกันนะคะ
จริงๆแล้ว ธรรมเนียมการฉลองหรือขอพรของญี่ปุ่นนั้น เริ่มตั้งแต่ก่อนคลอดโดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 5 จะพันผ้าสีขาวรอบท้อง เรียกว่า 腹帯 (haraobi ฮะระโอบิ) หรือ 岩田帯 (いわたおび อิวะตะโอบิ) ก็ได้ แล้วไปไหว้ศาลเจ้าขอพรในวันสุนัข (戌の日 อินุ โนะ ฮิ) ตามธรรมเนียมที่เรียกว่า 帯祝い(おびいわい โอบิอิวัย) เป็นการขอพรให้คลอดง่าย(安産祈願 anzankigan อันซังคิงัง)และเนื่องจากเชื่อว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่คลอดลูกง่ายและคลอดได้ครั้งละจำนวนมาก ญี่ปุ่นจึงนับถือสุนัขเป็นเทพเจ้าแห่งการคุ้มครองให้คลอดง่ายและปลอดภัย ตอนชุฟุจังท้องได้ 5 เดือนก็ปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้เช่นกันค่ะ
ต่อไปเรามาดูกันว่าคนญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี มีธรรมเนียมการฉลองอะไรบ้าง
▮お宮参り(おみやまいり:โอะมิยะมัยริ)
お宮参り(おみやまいり:โอะมิยะมัยริ)หรือการไปไหว้ศาลเจ้าขอพรให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงนั้นจะปฏิบัติกันหลังจากเด็กเกิดได้ 30 วันหรือ 33 วัน แต่ก็มีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถไปตามวันที่กำหนดได้ จึงเลือกไปไหว้ศาลเจ้าในวันที่ตัวเองสะดวกซึ่งสามารถทำได้เช่นกัน
▮お食い初め(おくいぞめ:โอะคุยโซะเมะ)
お食い初め(おくいぞめ:โอะคุยโซะเมะ)แปลตรงตัวจะหมายถึง การกินครั้งแรก หรือจะเรียกว่า 100日目(ももか โมะโมะกะ)ซึ่งแปลว่าวันที่ 100 ก็ได้
お食い初め(おくいぞめ:โอะคุยโซะเมะ)เป็นธรรมเนียมประเพณีขอพรให้เด็กมีกินมีใช้ไม่ลำบากในอนาคต (これから、食べることに困らないように korekara,taberu koto ni komaranai youni)
หลังจากเด็กเกิดมาครบ 100 วันตามธรรมเนียมญี่ปุ่น จะมีการฉลองเกิดครบ 100 วัน (百日お祝い เฮียะคุนิจิโอะอิไว) โดยจะมีการจัดชุดอาหารตามประเพณีให้เด็กทาน
สำหรับชุดอาหาร บางบ้านคุณแม่ก็ลงมือจัดอาหารเอง บางบ้านก็สั่งซื้อ แต่ไม่ได้ให้เด็กกินจริงนะคะ ป้อนทำเหมือนให้แกล้งกิน นอกจากนี้ยังมีการพาเด็กไปถ่ายรูปใส่ชุดกิโมโนพร้อมชุดอาหารที่สตูดิโอเป็นที่ระลึกอีกด้วย
▮初節句(はつぜっく:ฮะซึเซกกุ):ประเพณีแรกของปีของเด็ก
ประเพณีแรกในที่นี้ก็คือ วันเด็กผู้หญิง วันที่ 3 เดือน 3 หรือวันฮินะ 雛祭り (hinamatsuri ฮินะมะซึริ)ในกรณีเป็นเด็กผู้หญิงและวันเด็กผู้ชาย วันที่ 5 เดือน 5 หรือเรียกว่า子供の日(kodomo no hi โคะโดะโมะ โนะ ฮิ) ในกรณีเป็นเด็กผู้ชาย ถือเป็นการขอพรปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและขอพรให้เด็กอยู่รอดปลอดภัยมีสุขภาพแข็งแรงโดยเด็กทุกคนจะมี 初節句 (はつぜっく:ฮะซึเซกกุ) ในปีอายุที่แตกต่างกันออกไป
▮初誕生 (はつたんじょう:ฮะซึตันโจว) ฉลองวันเกิดอายุครบ 1 ขวบเต็ม
เมื่อเด็กอายุครบ 1 ปีเต็มจะมีการฉลองวันเกิดพร้อมกับการปฏิบัติตามธรรมเนียมเหยียบหรือแบกก้อนโมจิเพื่ออวยพรให้เด็กคนนั้นมีสุขภาพแข็งแรงไม่ลำบากเรื่องปากท้องในอนาคต
โดยประเพณีนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค อย่างเช่นที่คิวชู จะให้เด็กใส่รองเท้าฟาง (草鞋 わらじ วะระจิ) และให้เหยียบโมจิก้อนใหญ่ เรียกว่า 一升餅 (いっしょうもち อิชโชวโมจิ ) ชุฟุจังก็เพิ่งเคยเห็นโมจิก้อนใหญ่มากแถมหนักอีกต่างหาก
การเหยียบโมจิ หมายถึง การเหยียบย่ำเดินไปบนฐานที่แข็งแรงเหมือนว่าให้มีชีวิตที่มั่นคงแข็งแกร่งในอนาคต
และมีอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำกัน คือ การเอาโมจิใส่เป้ให้เด็กแบก
และรูปแบบอื่นก็มี เช่น ให้เด็กอุ้มโมจิ เป็นต้น โดยทั้งการแบกและอุ้มนั้นผู้ใหญ่จะช่วยประคองโมจิไว้ด้วย เนื่องจากโมจิขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก
ต่อจากนั้นก็จะมีประเพณีการทำนายอนาคต เรียกว่า 選び取り (えらびとり เอะระบิโทะริ) หรือ 将来占い (โชวไรอุระไน) ก็ได้ เป็นการทำนายอาชีพและพรสวรรค์ในอนาคตของเด็กโดยการนำสิ่งของที่จะทำนายมาวางเรียงต่อหน้าเด็ก เช่น ลูกคิด (そろばん โซะโระบัง) หรือ เครื่องคิดเลข (電卓 เดงตะคุ) จะหมายถึงความสามารถด้านการค้าขาย ปากกา ดินสอ เครื่องเขียน จะหมายถึงความสามารถด้านศิลปะ นักเขียน เงิน หรือ กระเป๋าสตางค์ หมายถึงแววการเป็นเศรษฐีหรือทำงานเกี่ยวกับด้านการเงิน ก็ลุ้นสนุกกันว่า เด็กๆ จะเลือกหยิบอะไร
▮七五三 (しちごさん:ชิจิโกะซัง)
七五三 (しちごさん:ชิจิโกะซัง)เป็นประเพณีขอพรให้เด็กๆ เติบโตและมีสุขภาพแข็งแรง โดยเด็กทั้งชายและหญิงที่มีอายุครบ 3 ขวบ 5 ขวบ และ 7 ขวบในวันที่ 15 พฤศจิกายนของทุกปีจะต้องใส่ชุดสีสดใสชุดกิโมโนไปไหว้ศาลเจ้าแต่ละแห่ง
นอกจากนี้พ่อแม่ก็จะพาลูกๆ ไปใส่ชุดกิโมโนถ่ายรูปที่สตูดิโอเป็นที่ระลึกในประเพณีนี้แสดงถึงว่าลูกได้เติบโตอีกขั้นแล้ว
▮入学祝い (にゅうがくいわい:นิวกะกุ อิไว) ฉลองเข้าเรียน
ธรรมเนียมการฉลองเมื่อลูกเข้ารับการศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล (入園式 นิวเอ็นชิคิ หมายถึง พิธีเข้าศึกษาระดับอนุบาล) ระดับชั้นประถม ระดับชั้นมัธยมและระดับมหาวิทยาลัย
ธรรมเนียมการฉลองโดยทั่วไปจะมีการให้ของขวัญหรือเงินจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายและคนรู้จักที่สนิทกันเท่านั้น
หากเป็นเงินสด จะมีการใส่ซองยื่นให้โดยมูลค่าเงินจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว
โดยทั่วไประดับอนุบาลอยู่ที่ 5000 ถึง 10000 เยน
ระดับประถมจะให้อยู่ที่ประมาณ 5000 ถึง 20000 เยน
ระดับมัธยมต้นอยู่ที่ประมาณ 5000 ถึง 10000 เยน
ระดับมัธยมปลายอยู่ที่ประมาณ 5000 ถึง 10000 เยน
ระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ประมาณ 10000 เยน ถึง 30000 เยน
▮卒業・就職祝い (そつぎょう・しゅうしょくいわい:โซะซึเงียว・ชูวโชะคุอิวัย) ฉลองจบการศึกษาและได้งานทำ
เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของทุกปี นอกจากอากาศจะกำลังเย็นสบายและได้ตื่นตาตื่นใจกับการชมซากุระบานแล้ว ช่วงนี้ยังเป็นช่วงจบการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาและพนักงานใหม่จะได้เริ่มทำงานทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
สำหรับการฉลองจบการศึกษาในระดับประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ของขวัญหรือเงิน แค่พ่อแม่หรือคนรู้จักกล่าวแสดงความยินดีว่า 「おめでとう โอะเมะเดะโตว」 ก็เพียงพอแล้ว หรืออาจไปฉลองจบการศึกษากันในครอบครัวด้วยการไปทานมื้ออาหารอร่อยๆ ด้วยกันก็ได้ ทั้งนี้การให้ของขวัญหรือเงินเพื่อแสดงความยินดีจะทำในช่วงเข้ารับการศึกษาใหม่ซะมากกว่า
สำหรับของขวัญในการแสดงความยินดีที่ได้งานทำ อาจจะให้เป็นของใช้ที่จำเป็นในที่ทำงาน เช่น นาฬิกาข้อมือ สมุดบันทึก กระเป๋าสตางค์ ปากกา เป็นต้น
โดยผู้ได้รับของขวัญหรือเงินแสดงความยินดีในการจบการศึกษาและยินดีที่ได้งานทำนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ของขวัญตอบแทนเป็นกิจลักษณะ แต่อาจจะซื้อของหรือขนมจากเงินเดือนเดือนแรกเพื่อเป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้
▮成人式 (せいじんしき:เซจินชิคิ) พิธีบรรลุนิติภาวะ
พิธีเซจินชิคิ หรือ พิธีบรรลุนิติภาวะ เป็นพิธีดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยทุกวันที่ 15 มกราคมของทุกปีจะมีการฉลองของชายหญิงที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว และวันนี้ถือเป็นวันหยุดราชการเพื่อให้แต่ละภูมิภาคได้จัดงานเฉลิมฉลองพิธีนี้กัน
สำหรับพิธีนี้นั้นถือเป็นพิธีที่ชายหญิงทุกคนรอคอย นอกจากจะเป็นการฉลองความเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทุกคนยังได้แต่งตัวสวยด้วยชุดกิโมโนหลากสีสันและร่วมถ่ายรูปกับเพื่อนๆ เพื่อเป็นที่ระลึกอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับคนที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะคุณแม่บ้านที่แต่งงานและมีลูกที่ญี่ปุ่น
ชุฟุจังเชื่อว่าจะต้องได้สัมผัสกับธรรมเนียมเหล่านี้แน่นอนค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความนะคะ
เรียบเรียงโดย ชุฟุจัง
ขอบคุณข้อมูลจาก ra-kurashi.jp ,cocomammy.com