สัมภาษณ์คุณแม่ไทย Vol.5

แชร์เคล็ดลับเลี้ยงลูกสองภาษา

สอนลูกไทยให้พูดญี่ปุ่นได้


ชุฟุจัง :  ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่ตอบรับการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้นะคะ เชื่อว่าความรู้และเทคนิคการสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกในบทสัมภาษณ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างมาก อ่านแล้วจะได้แนวทางการสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูก หรือได้เทคนิคการเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่สนใจภาษาญี่ปุ่น 

ว่าแล้วเราก็ไปทำความรู้จักกับคุณแม่ผู้ให้สัมภาษณ์ในวันนี้กันเลยค่ะ รบกวนแนะนำตัวให้คุณแม่และผู้อ่านรู้จักหน่อยค่ะ

คุณแม่ลี่ :  ชื่อลี่ค่ะ อยู่กรุงเทพค่ะ   ส่วนลูกสาว ชื่อ น้องอลิ (อาลิตัน เป็นชื่อเล่นในเพจค่ะ) 6 ขวบใกล้ 7 ขวบค่ะ  มีความสามารถฟังพูดอ่านเขียนภาษาญี่ปุ่น ถนัดการอ่านมากที่สุด เพราะเป็นนักแปลค่ะ ภาษาอังกฤษอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ได้ใช้ทำงานค่ะ   งานอดิเรก คือ การวาดภาพ อ่านหนังสือ ทำเสื้อผ้า

 

ชุฟุจัง : อยากทราบจุดเริ่มต้นในการสอนภาษาญี่ปุ่นให้กับน้องอาลิตัน ตอนนั้นคุณแม่มีแรงจูงใจหรือคิดอะไรคะ

คุณแม่ลี่ : ช่วงที่น้องเกิด (2014) มีกระแสที่เด่นๆในหมู่การเลี้ยงลูกคือ สอนลูกพูดภาษาที่สองโดยพ่อแม่ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา (หลักๆหมายถึงภาษาอังกฤษ) ตอนนั้นเป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งเข้าทางเราเลยเพราะอยากทำอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีกระแสการสอนด้วยคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ก็อาจจะไม่ได้มั่นใจที่จะทำมาจนถึงตอนนี้ค่ะ

 

ชุฟุจัง : แล้วปกติในครอบครัวใช้ภาษาอะไรในการสื่อสารพูดคุยกันคะ

คุณแม่ลี่ : ที่บ้านเป็นคนไทยธรรมดาๆ เลยค่ะ แต่แม่พูดญี่ปุ่นได้ ส่วนพ่อไม่ได้เลย เพราะตัวเองเคยไปเรียนที่ญี่ปุ่น พอกลับมาก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ  และปกติน้องจะอยู่กับแม่คนเดียวเกือบทั้งวัน  

ถ้ากรณีเด็กเป็นลูกครึ่งสองชาติที่มีเจ้าของภาษาสอนเองจะเป็นการซึมซับอยู่แล้ว แต่ถ้าสอนโดยที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา

ปัญหาแรกคือ ความไม่มั่นใจ (คนรอบข้างก็แคลงใจ) ว่าจะได้เหรอ ตัวเองก็ไม่ใช่เนทีฟนะ แต่แนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกสองภาษาตอนนั้นเป็นกระแสมาแรง เราก็เลยคิดว่าจะลองสอนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่เกิดเลย เพราะตัวเองกว่าจะได้เรียน คือโตแล้วเพราะตลาดการสอนภาษาญี่ปุ่นไม่กว้าง ถ้าเราทำได้ก็น่าจะดี 

ส่วนภาษาอังกฤษคิดว่าที่ไหนก็มีสอนตั้งแต่เด็กเล็กเด็กโตไปจนถึงผู้ใหญ่ จึงลงมือสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกโดยไม่ได้สอนภาษาไทยด้วยซ้ำค่ะ (เช่น ศัพท์เบสิกต่างๆจะไม่ได้เน้นภาษาไทยเลย เพราะเดี๋ยวเค้าก็รู้เองแน่ๆ) จึงพยายามหาข้อมูล และแนวร่วมคุณแม่ที่สอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกแบบเรา ก็พอมีบ้างแต่น้อยมากค่ะ 

 

หลังจากนั้นเลยตั้ง facebook page ありたん日本語 อาลิตัน-สอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูก จริงๆตั้งใจจะให้คนเข้ามาแชร์วิธีสอนกัน มาช่วยกันเขียนโพสต์ ซึ่งควรตั้งเป็น Group แต่เราตั้งผิดเป็น Fan page เลยกลายเป็นเราเขียนคอนเท็นต์อยู่คนเดียวค่ะ (ฮา) ก็เลยโพสต์พวกคำศัพท์และพัฒนาการของน้องในเพจค่ะ แล้วก็พอดีพบว่า มีคลาสเรียนสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนที่ครูสอนเป็นชาวญี่ปุ่น ก็เลยพาน้องไปเรียน เด็กที่ไปเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่น หรือไม่ก็เด็กญี่ปุ่นเลย ส่วนเด็กไทยแท้ๆ นอกจากน้องอาลิตันก็พอมีบ้างค่ะ จะเรียนเป็นเพลย์กรุ๊ป การพาไปเรียนเพื่อให้เค้าได้เจอคนญี่ปุ่นบ้างค่ะ

ชุฟุจัง : คุณแม่ลี่สุดยอดมาก ตัดสินใจสอนลูกตั้งแต่เกิดจนน้องอาลิตันพูดญี่ปุ่นได้และสามารถเปิดเพจแบ่งปันความรู้ต่อให้กับคนอื่นที่สนใจด้วย ทีนี้คิดว่าหลายคนคงอยากรู้แล้วค่ะว่า คุณแม่มีเทคนิควิธีการสอนน้องอย่างไรในแต่ละช่วงวัย 

คุณแม่ลี่ : เริ่มจากพูดกับน้องเป็นภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่วัย 4 เดือน  เด็กเล็กไม่ต้องการคำพูดยาวๆ พูดแค่คำว่า “วันนี้อากาศดีนะ(きょう、てんきがいいね)”  “กินนมยัง(ぎゅうにゅうをのんだ?)” “ตื่นแล้วเหรอ(もうおきたの?)”  พูดทุกอย่างที่เราพูดได้ค่ะ  แล้วก็เปิดหนังสือภาพชี้บอกศัพท์ไปเรื่อยๆ คำไหนเราไม่รู้ก็ค้นหาก่อน จนน้องอายุประมาณ 8 เดือน  ตอนนั้นเด็กมีการแสดงการตอบสนองต่อคำที่เค้าได้ยินบ่อยๆ เหมือนเด็กทั่วไปค่ะ เช่น ถามเค้าว่าอะไรอยู่ไหน リモコンどこ?(รีโมทอยู่ไหน) 絵本はどこ?(หนังสือนิทานอยู่ไหน) เค้าก็หันไปมองสิ่งนั้นได้ถูกต้อง เราก็รู้สึกว่า เอาละ ได้ละ ต่อมาก็เพิ่มให้เค้าได้เรียนรู้ศัพท์มากขึ้นเรื่อยๆค่ะ เช่น สี สัตว์ สิ่งของ ยกมือขึ้น เหมือนปกติค่ะ บอกให้ทำอะไรก็จะพูด เช่น ขอดูหน่อย เค้าก็เข้าใจค่ะ 

น้องอาลิตัน 9 เดือน กับหนังสือนิทานเด็กญี่ปุ่น

แต่กว่าจะพูดออกมาเองก็ประมาณ 2 ขวบค่ะ จะให้พูดตาม พูดทวนที่แม่พูดก่อน จากนั้นเค้าเห็นภาพแล้วจะพูดเองได้ค่ะ เช่น คำว่า “ริงโงะ” คำนี้แม่จะไม่แปลความหมายให้ฟัง คือภาษาญี่ปุ่นเรียกยังไงก็อย่างงั้น ไม่ต้องแปล เพราะตำราแนะนำมาว่า สอนแนวนี้ก็ไม่ต้องแปลค่ะ

ตอนแรกคิดว่าจะไม่สอนอ่านเขียนเลยค่ะ เพราะนึกไม่ออกว่าจะสอนยังไงดี กับมีความคิดที่ว่า เราไม่ใช่คนญี่ปุ่น เอาแค่พูดฟังได้ก็พอ แต่พอประมาณ 3 ขวบ เค้าเล่นกระดานกดที่มีเสียงตัวหนังสือจนจำได้เองค่ะ แต่แม่ไม่ได้เน้น ตอนนี้เลยพึ่งมาเรียนย้ำใหม่ เพราะถ้าเค้าอ่านได้ก็ดีกว่า ต่อไปจะได้เรียนรู้เพิ่มเองได้ด้วย

สื่อที่ใช้ในการสอนมีเยอะมาก สื่อที่ใช้ตอนช่วงที่น้องเริ่มรู้เรื่อง คือ ชิมะจิโร่  เป็นสื่อการเรียนที่ไม่ใช่สื่อสอนภาษาแต่ช่วยให้เราสามารถช่วยเรื่องพัฒนาการตามวัยของลูก “ด้วยภาษาญี่ปุ่น” ได้ค่ะ เช่น การเข้าห้องน้ำ การแปรงฟัน

 

ปกติคุณแม่จะต้องสอนน้องอยู่แล้วไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไร พอเรามีสื่อตัวนี้ช่วยให้ง่ายขึ้นค่ะ เหมือนมีตัวอย่างการพูดการรับมือ (対応(taiou)) เรื่องต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นได้ ซึ่งสามารถจำก๊อปปี้ไปใช้ได้เลย

สมัยนี้สื่อญี่ปุ่นเยอะมาก ที่บ้านดูรายการญี่ปุ่นผ่านเว็บค่ะ ตอนเด็กเปิดการ์ตูน ちびまる子 กับ おかあさんといっしょ น้องดูเข้าใจค่ะ เพราะหูเค้าชินกับภาษาสามารถฟังสำเนียงญี่ปุ่นแท้ออกแล้ว

พอเริ่มรู้เรื่องก็ดูพวกโดราเอม่อน ชินจัง ดูยูทูปช่องเด็กญี่ปุ่นพวกรีวิวของเล่น ตอนเล็กๆ จะดูช่อง Kan&Aki ตลอดเลยค่ะ เดี๋ยวนี้โตแล้วเปลี่ยนมาดูช่อง Hikakin, Seikin ค่ะ

เค้าจะได้ศัพท์ใหม่ๆ เอง ตอนนี้ก็เลยทำคลิปยูทูป (อาลิตัน นิฮงโกะ) โดยที่ให้น้องมาแจมตอนช่วงท้ายที่เป็นของเค้าโดยเฉพาะ เนื้อเรื่องจะเห็นว่าบางทีก็ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในตอน (ฮา) เพราะบางตอนเค้าคิดเองค่ะ ว่าจะทำแบบนี้ เรื่องเป็นแบบนี้ แม่ก็มาตบให้เข้าที่ ก็ตามใจเค้าด้วยค่ะ เพื่อให้ได้ออกมาแต่ละคลิป ก็น่าจะถือเป็นการฝึกในช่วงวัยนี้ของเค้า  

ชุฟุจัง : ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างต่อเนื่องเนอะคะ นับถือความมุ่งมั่นของคุณแม่ในการสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกมากๆ เลยค่ะ แล้วมีเหตุการณ์ไหนที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าลูกเริ่มคิดพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วคะ

คุณแม่ลี่ : ที่จริงน้องพูดญี่ปุ่นแบบธรรมชาติมากๆ คือ ช่วงก่อนเข้า รร ค่ะ เพราะอยู่กับแม่มาก เวลาเล่นเคยเห็นบ่อยๆ เค้าพูดแบบพากษ์เสียงตุ๊กตาอยู่ตามลำพัง ประมาณว่า 恐竜がきた、逃げよう。魔法の水かけて、、คำมาจากพวกการ์ตูนซึ่งตรงนี้ที่เห็นว่า เป้าหมายสำเร็จแล้วคือ เค้ามีพื้นมากพอที่จะสามารถไปเรียน ไปจำด้วยตัวเองได้ จำได้ว่าพูดยาวที่สุดครั้งแรกตอน 3 ขวบกว่า เค้าหยิบขนม surprise egg มาแล้วพูดว่า 中はなにが入っているか知りたい。แม่แบบ หืม โอเค 55 

ไม่แน่ใจเท่าไรว่า อะไรทำให้เค้าคิดว่า ตรงนี้จะพูดไทย ตรงนี้จะพูดญี่ปุ่น มีครั้งหนึ่งโตแล้วเป็นช่วงที่พูดไทยเยอะ อยู่ๆตอนเค้าโมโหแม่ ก็พูดโวยเป็นญี่ปุ่นออกมา ままつまらない。ぱぱもつまらない。きいてることもわからない!

คือเด็กเมื่อโตแล้ว แม่คิดว่าเค้าจะพูดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องพูดมากกว่า เช่น เจอคนญี่ปุ่น หรือกำลังเรียนญี่ปุ่นกับแม่ จะไม่ได้พูดตลอดนะคะ อันนี้พ่อแม่ผู้ปกครองมักกังวลเวลาที่ส่งลูกไปนานาชาติกลับมาบ้าน ทำไมลูกก็พูดไทยอยู่ดี แต่ว่านั่นเพราะเค้าแยกแยะสถานการณ์ได้มากกว่าค่ะ 

ส่วนที่บอกว่าไม่เคยสอนไปแปลไป พอน้องโตประมาณ 5 ขวบ แม่ชอบถามเค้าว่าอันนี้มันแปลว่าอะไรรึ เค้าก็บอกเป็นภาษาไทย ซึ่งแม่ดีใจว่า เออ เค้าเอาคอนเซ็ปของสองภาษามาเชื่อมโยงกันได้เอง

ชุฟุจัง : อุปสรรคในแต่ละช่วงวัยในเรื่องพัฒนาการภาษาญี่ปุ่น

คนที่ไม่เคยสอนภาษาที่สองให้เด็กจะคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มให้เร็วที่สุด เริ่มเร็วเท่าไรอุปสรรคยิ่งน้อย หรือไม่มีเลย  เพราะเด็กคือว่างเปล่า อย่างน้องอาลิตัน เค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คำว่า ริงโงะ กับคำว่า แอปเปิ้ล คือคนละภาษากัน ไม่เข้าใจคำว่า “ภาษาไทย” “ภาษาญี่ปุ่น” คืออะไร มันต่างกันยังไง จนเกือบ 4 ขวบน้องถึงเข้าใจค่ะ ว่าภาษามีการแบ่งแยก

สรุปคือสอนตอนเด็กเล็ก ยิ่งเล็กมากยิ่งดี แต่เด็กเล็กเหมาะกับการสอนแบบ Direct (พูดใส่ ไม่แปล)

แต่พอน้องโตขึ้นไป รร ไทย หรืออังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นเค้าจะน้อยลง เพราะใช้เวลาที่ รร. มาก แม่ต้องใจแข็งพยายามพูดกับเค้า บอกเลยว่า มีช่วงหนึ่งก็พูดญี่ปุ่นกับเค้าน้อยลงมาก เพราะภาษไทยบดบัง และเราไม่ใช่เจ้าของภาษาจะพูดได้ไม่ตกหล่นเลยก็ยากมาก (เวลาเหนื่อย โกรธ หรือสอน เป็นต้น) อันนี้ขึ้นอยู่กับความหนักแน่นของแต่ละบ้านนะคะ ถ้าใครเริ่มตอนโต แนะนำว่า สอนแบบ Indirect (สอนโดยใช้ภาษาไทยช่วยอธิบาย) จะลดความเครียดให้เด็กได้มากกว่าค่ะ โตขึ้นเด็กอาจจะพูดน้อยลง แต่ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นแน่นอนค่ะ

 

ชุฟุจัง : คำถามนี้เห็นว่ามีคนถามมาบ่อยใช่ไหมคะ สำหรับพ่อแม่ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเลยแต่อยากให้ลูกพูดภาษาญี่ปุ่นได้ หรือพ่อแม่ที่รู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วแต่ยังไม่มั่นใจกลัวว่า จะสอนลูกได้ไม่ดี คุณแม่มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ

คุณแม่ลี่ : คำถามนี้เคยได้ยินบ่อยมากค่ะ เอาจริงๆ ตอนแรกไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน สำหรับกรณีพ่อแม่ที่ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเลย แต่อยากสอนลูก จำได้ว่ามีตอนที่เห็นลูกเรียนออนไลน์วิชาภาษาจีน แม่ฟังไปด้วยก็เหมือนได้เรียนไปด้วยเลยค่ะ ก็เลยปิ๊งคำตอบว่า ถ้าใครบอกว่าไม่มีความรู้ญี่ปุ่นแต่อยากสอนลูก แนะนำให้เปลี่ยนความคิด “เป็นเรียนไปด้วยกัน ช่วยกันเรียนแบบเพื่อนร่วมชั้นนะคะ” น่าจะได้ผลกว่าให้เด็กไปนั่งเรียนคนเดียว หมดชั่วโมงก็ไม่มีใครทวน ไม่รู้จะไปใช้กับใคร ชั่วโมงต่อไปค่อยว่ากันใหม่

ส่วนคนที่พูดได้แต่กลัวว่าจะสอนไม่ได้ สอนไม่เป๊ะ (แม่เคยเจอ คุณพ่อที่พูดได้เลย แต่ไม่สอนลูก บอกกลัวไม่เป๊ะ) จะบอกว่าภาษาที่สอนเด็กเป็นภาษาระดับง่ายๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ แม้แต่ภาษาไทยที่เด็กใช้ทุกวัน ระดับภาษาก็ยังเป็นระดับเบสิก ดังนั้นมั่นใจสอนได้ค่ะ ถ้าประโยคไหนเราไม่แน่ใจว่าใช้แสดงคำพูด (表現 hyougen) แบบไหนถึงจะถูก ก็ไปค้นหาดูก่อนค่อยพูดกับลูกก็ได้ค่ะ

พอพื้นฐานได้แล้วเดี๋ยวเค้าออกไปเก็บความรู้กลับมาเองค่ะ อย่างทุกวันนี้บางคำน้องฟังมาจากในยูทูป แม่ไม่รู้ด้วยซ้ำ ถามเค้ามันแปลว่าอะไร เค้าก็บอกเราเอง เช่นคำว่า しょぼい แม่ไม่เคยได้ยินถามว่า แปลว่าอะไรเนี่ย เค้าก็บอกว่า บ้านๆธรรมดาๆ ก็ขำดีค่ะ เท่านี้ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะสำหรับแม่

 


จบแล้วค่ะสำหรับบทสัมภาษณ์คุณแม่น้องอาลิตัน

ทุกคนอ่านแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้างคะ

หวังว่าคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้ว

จะได้แนวทางและปลุกความมั่นใจในการสอนภาษาหรือสนับสนุนให้ลูกพูดภาษาญี่ปุ่นได้   

ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถนำเทคนิควิธีการรวมถึงสื่อการเรียนต่างๆ ที่คุณแม่น้องอาลิตันแนะนำ

นำไปปรับใช้ให้เข้ากับแนวทางการเรียนการสอนของตัวเองและลูกได้ ดีมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านแล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ                       

ติดตามความรู้ภาษาญี่ปุ่น และ การสอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูกของคุณแม่น้องอาลิตันได้ที่

Youtube Channel : อาลิตัน นิฮงโกะ Alitan.Nihongo

Facebook Fanpage ありたん日本語 อาลิตัน-สอนภาษาญี่ปุ่นให้ลูก

 

ขอบคุณคุณแม่ลี่ ผู้ให้สัมภาษณ์

เรียบเรียงโดย ชุฟุจัง

 


★RECOMMEND★
คอร์สออนไลน์สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเล็กในญี่ปุ่น
เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกแบบฉบับคนญี่ปุ่นและภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กับลูก,ใช้ตอนพาไปหาหมอ ฯลฯ
สอนโดย คุณ MAKI HODA ครูเนอสเซอรี่ญี่ปุ่น 
ดูรายละเอียดคอร์สได้ที่นี่
ในบทเรียนมีล่ามแปลภาษาไทย พร้อมเอกสารประกอบการเรียนภาษาไทยและญี่ปุ่น
รูปแบบวิดิโอออนไลน์ สะดวกเรียนเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้
เรียนได้ทั้งคุณพ่อญี่ปุ่นและคุณแม่ไทย 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.