สัมภาษณ์แม่บ้านไทยในญี่ปุ่น#6 | จุดเริ่มต้นปรับสมดุลชีวิตที่ลงตัวด้านการงานและการเลี้ยงลูกในญี่ปุ่น

สัมภาษณ์แม่บ้านไทยในญี่ปุ่น#6 | จุดเริ่มต้นปรับสมดุลชีวิตที่ลงตัวด้านการงานและการเลี้ยงลูกในญี่ปุ่น

สัมภาษณ์แม่บ้านไทยในญี่ปุ่น#6

จุดเริ่มต้นปรับสมดุลชีวิตที่ลงตัว

ด้านการงานและการเลี้ยงลูกในญี่ปุ่น

 

สวัสดีค่ะ ชุฟุจังนะคะ ทุกคนสบายดีกันไหมเอ่ย

ห่างหายไปนานกับบทความสัมภาษณ์แม่บ้านไทยในญี่ปุ่น

 สำหรับครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่บ้านในญี่ปุ่น ข้อคิดดีๆ มากมายเลย อยากให้ทุกคนให้อ่าน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่ และกังวลเรื่องการหางาน หาเงิน หลังจากที่ได้อ่านแล้ว หวังว่าจะได้ปรับโฟกัสได้ถูกจุด ปรับสมดุลชีวิตได้ดีขึ้น มีกำลังใจเดินหน้าต่อ 


ชุฟุจัง : ก่อนอื่นต้องขอบคุณมากค่ะที่มาแชร์ประสบการณ์ชีวิตในครั้งนี้ รบกวนแนะนำตัวให้หน่อยค่ะ

ชื่อ ปัทมา ชื่อที่ใช้ในเพจ อินสตราแกรม NeoPattaMAMA ค่ะ เจ้าของเพจ Facebook และ Instragram ชื่อ NeoPattaMAMA ค่ะ อยู่แถบคันไซค่ะ แต่งงานมา 7 ปี ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นก็ 7 ปีแล้วค่ะ มีลูก 1 คน ลูกชาย 4 ขวบค่ะ ปัจจุบันทำงานเป็นช่างแต่งหน้าเฉพาะทางและนักวิเคราะห์จิตใจ พฤติกรรม ครูของสมาคมญี่ปุ่นด้านสีจิตวิทยา และพฤติกรรม ผู้ให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพค่ะ

ดิฉันอยากแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต สาเหตุที่มาทำงานด้านนี้ค่ะ

ชุฟุจัง : ไม่ทราบว่างานปัจจุบันเริ่มทำตั้งแต่เมื่อไหร่คะ

งานนี้เริ่มทำหลังแต่งงานมีลูกแล้วค่ะ ดิฉันจบอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาญี่ปุ่น และวัดระดับ N1 จึงทำงานด้านภาษาญี่ปุ่นมาตลอดตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาค่ะ ร่วมๆก็ 10 กว่าปีค่ะ ทั้งเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น ล่าม นักแปล ทำงานที่สนามบิน ผู้ประสานงานและจัดการด้านติดต่อกับลูกค้าคนไทยบริษัทอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพค่ะ แต่ส่วนตัวไม่ค่อยเน้นงานสอนค่ะ เพราะชอบเรียนรู้ควบคู่การทำงานไปด้วย

ดังนั้นหลังจบระดับครูมาแล้วจึงเน้นไปทางศึกษาแตกแขนงเจาะลึกต่อมากกว่าค่ะ ส่วนด้านการแต่งหน้า เริ่มศึกษาด้านสกินแคร์ตั้งแต่อายุ 13 ปี ฝึกแต่งหน้าตนเองอายุ 15 ปี และศึกษาเก็บข้อด้านนี้มาควบคู่กับวิชาอื่นมาเรื่อยๆค่ะ แต่มาจริงจังสอบและจับเป็นอาชีพเลยเมื่อ 3 ปีที่แล้วค่ะ ก่อนหน้านั้นศึกษาเรื่องสีกับการออกแบบและผลิตต่างหูค่ะ

ในชีวิตของดิฉันและครอบครัวของดิฉันสนใจด้านภาษาและแฟชั่นกันตั้งแต่เด็กๆค่ะ แต่ว่าพวกเราชอบทำแบบเงียบๆไม่ออกตัวเท่าไหร่เพราะค่อนข้างไวทางด้านการรับรู้ความนึกคิดข้างในใจคนรอบข้างค่ะ อย่างดิฉันถ้าดิฉันได้คุยกับใครแล้วก็จะรู้ถึงสิ่งข้างในใจได้เกือบทันที เลยมักจะตีตัวออกห่างผู้คนและระวังด้านจัดการกับความรู้สึกค่ะ ถึงกระนั้นดิฉันก็มุ่งมั่นรักการศึกษาหาความรู้เสมอค่ะ แม้มีลูกแล้วก็เช่นกัน พอต้องหยุดทำงานแล้วก็รู้สึกเหมือนไร้ตัวตน เป็นที่พึ่งให้กับตนเองและลูกไม่ได้ จึงมุ่งมั่นเน้นศึกษาเพื่อสร้างอาชีพให้ตนเองเพราะอยากเป็นที่พึ่งให้ลูกและตนเองได้ ซื้อของให้ลูกด้วยรายได้ตนเองได้ค่ะ แต่พอทำเช่นนั้นแล้ว พอรู้ตัวอีกทีเรามองย้อนกลับไปแล้ว ที่พัฒนาหลังมีลูกส่วนใหญ่มันคือเรานี่นา ลูกป่วยบ่อย เพราะเรายังดูแลได้ไม่ละเอียดพอ มัวแต่ไปสนใจเรื่องความรู้ที่ได้จากการเลี้ยงลูกและวางแผนเอาไปสร้างอาชีพ แต่พอถึงตรงของลูกตรงเอง เรากับเอาความรู้นั้นมาใช้ยังไม่ชำนาญพอเลย

หลังจากนั้นจึงปรับลดความคาดหวังด้านงานให้น้อยลงและใส่ใจกับเรื่องของลูกมากขึ้นค่ะ พอทำเช่นนั้นแล้วลูกก็สุขภาพดีขึ้น เรียนรู้เข้าใจอะไรได้ไวขึ้นมากเลยค่ะ ดิฉันเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่เช่นกันค่ะ และหลังจากศึกษาเฉพาะทางด้านจิตใจก็ได้เห็นเข้าใจลึกๆเข้าไปในความคิดการกระทำของหลายๆท่าน สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากตนเองและจากการทำงานมาและกังวลเป็นอย่างมากจนอยากเล่าให้ทุกท่านคือ “ช่วงลูกเล็ก โดยเฉพาะก่อนวัยประถมศึกษาเป็นช่วงสร้างตัวตนของลูกทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ช่วงที่ผู้ใหญ่ควรทุ่มเท เฝ้ามองพร้อมสนับสนุนซัพพอร์ตเด็กเพื่อให้รับรู้เข้าใจตนเอง เติบโตและปรับเข้าสังคมในวันที่แม้เราอยู่ข้างกายไม่ได้”

บางท่านโดยเฉพาะที่มาอาศัยอยู่ต่างประเทศ พอเป็นแม่แล้ว ยิ่งต้องหยุดงาน อาจกังวลและคิดหลายอย่างจึงมุ่งทำงาน หางาน อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์จนไม่ค่อยได้สบตา สานสัมพันธ์กับลูกตนเอง คุยกับลูก รับฟังลูกอย่างมีเวลาและใจเย็นค่ะ จึงอยากเล่าประสบการณ์ให้ฟังเพื่อเตือนใจให้ท่านอื่นได้พึงระวังตรงจุดนี้ค่ะ(อันนี้ไม่รวมท่านที่เลี้ยงเดี่ยวนะคะ) และนั่นก็เป็นที่มาว่าทำไมถึงเลือกทำอาชีพช่างแต่งหน้าเฉพาะทางควบคู่การวิเคราะห์ด้านจิตใจค่ะ เป็นทั้งการเตือนสติให้ตนเอง และเข้าใจผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ขึ้นไปในการทำงานเข้าถึง พูดคุย เข้าใจได้ลึกซึ้งค่ะ “ดิฉันอยากให้คุณแม่ สวย ดูดี ทั้งทางด้านความงาม สุขภาพกาย สุขภาพใจไปพร้อมๆกับลูกและคนรอบข้าง โดยมีสภาพจิตใจที่ไม่เครียดกดดัน คุมอารมณ์ตนเองได้ดีไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งตนเองและคนรอบข้างค่ะ”

ชุฟุจัง : สุดยอดมากๆ เลยค่ะ ทั้งเรื่องอาชีพการงาน ความสามารถศักยภาพและรวมถึงหน้าที่ของการเป็นแม่ด้วย เห็นด้วยค่ะ เพราะบางครั้งเราก็จะเผลอละเลยลูกไปบ้าง มัวแต่โฟกัสกับงาน และคิดว่ามีคุณแม่บ้านหลายคนก็เจอสถานการณ์หรือรู้สึกแบบนี้เช่นกัน ถือเป็นข้อคิดเตือนใจที่ดีมากค่ะ

อยากทราบว่า ช่วงที่คุณแม่สนใจงานมากเกินไป มีผลต่อจิตใจและร่างกายของลูก ทำให้ลูกป่วยง่าย สิ่งนี้มีผลกระทบอย่างไรกับตัวคุณแม่หรือครอบครัวบ้างไหมคะ ตอนนั้นก้าวข้ามผ่านมาได้อย่างไรคะ

คุณปัทมา : ตอนที่สนใจกังวลเรื่องงานเพราะอยากหารายได้ได้เอง จะได้สนับสนุนลูกได้มากขึ้น(เช่นถ้าลูกต้องเรียนพิเศษ ซื้อหนังสืออ่านอะไร ก็อยากจะจ่ายให้เค้าได้เอง) มันทำให้ในหัวคิดหลายอย่างอยู่เกือบตลอดเวลา จนนอนไม่หลับ เครียด และหงุดหงิดง่ายค่ะ ผลคือ เผลอหลุดหงุดหงิดใส่ลูก แล้วเราก็เก็บมาคิดเสียใจจิตตกค่ะ และก็หาแต่ของหวานกินคลายเครียดจนน้ำหนักขึ้น กระเพาะพัง ฟันผุต้องไปหาหมอรักษาอยู่หลายหน กินอะไรไม่ค่อยได้ไปพักนึง พอเราที่เป็นแม่เป็นแบบนั้นครอบครัวก็พลอยบรรยากาศหมองหม่น ไม่สดใสไปด้วยเลยค่ะ ที่ก้าวผ่านมาได้เพราะเปิดอกคุยกับสามีค่ะ พอเราคุยเรื่องกังวลเรื่องงาน หารายได้ เขาก็บอกว่า “รอลูกขึ้นประถมก่อนก็ได้ ช่วงนั้นก็จะมีเวลามากขึ้นอีกนิด เรื่องค่าใช้จ่ายเค้าก็สนับสนุนอยู่ ตอนนี้ให้เราโฟกัสที่ลูก ใช้ชีวิตครอบครัวกันให้มีความสุขกันดีกว่า”

พอฟังแบบนั้นเราก็ได้สติขึ้นมาค่ะว่า สิ่งที่สำคัญตอนนี้มากกว่าเรื่องเงิน รายได้ งาน ก็คือ โฟกัสที่ลูกดูแลให้ดี แข็งแรงทั้งสุขภาพกายใจ ไม่เพียงแต่ของลูกแต่ของตนเองและสามีด้วย ให้สมกับเป็นแม่และเป็นภรรยา จากนั้นพอเรามาโฟกัสเรื่องลูกมากขึ้น เราก็ได้ใส่ใจหลายอย่างของลูกละเอียดมากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะเรื่องการกิน แค่ปรับให้ได้รับสารอาหารครบมาตรฐานที่เด็กควรได้รับ(ชนิดและปริมาณ) ลูกก็สุขภาพแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้นค่ะ (แต่เดิมลูกไม่สบายเป็นหวัดง่ายมากค่ะ)

 

ชุฟุจัง : สุดท้ายนี้ เราคิดว่า ยังมีแม่บ้านอีกจำนวนมากที่แต่งงานมาอยู่ต่างแดน แล้วรู้สึกเหงา ห่อเหี่ยวใจ ขาดอิสระในการใช้ชีวิต ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยสนุกหรือมีความสุขในการใช้ชีวิตรวมถึงการเลี้ยงลูกด้วย ในฐานะที่คุณปัทมามีประสบการณ์และเป็นผู้ที่ศึกษาด้านจิตใจโดยตรง อยากจะฝากข้อคิดหรือเทคนิครวมถึงคำแนะนำอะไรในการปรับจิตใจให้รู้สึกมั่นใจและมีความสุข มีพลังในการใช้ชีวิตได้

ในฐานะที่มีประสบการณ์ซึมเศร้า จิตตก เครียด กังวลมาก่อนและศึกษากับให้คำปรึกษาด้านจิตใจ สิ่งที่ดิฉันอยากฝากถึงคุณแม่ทุกท่านก็คือ ให้ระวังเรื่องการคุมอารมณ์ ใส่ใจดูแลสุขภาพกายใจตนเอง ครอบครัวและลดการคาดหวังทั้งต่อตนเอง ลูกและสามีค่ะ เพราะด้วยความที่เราเป็นแม่เราก็อยากให้สิ่งที่สุดกับลูก รวมไปถึงสามี ปู่ย่า ตายายด้วย แต่ว่าดิฉันคิดว่าคงมีหลายคนที่ทำเช่นนี้แล้วเกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะกันกับคนในครอบครัว ซึ่งดิฉันคิดว่าสาเหตุหลักก็คือ “ความเครียดจากการต้องฝืนตนเองตลอดของแต่ละคนนั่นเองค่ะ” ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใญ่ แต่ละคนมีลักษณะของนิสัย ความชอบ ความถนัดที่ต่างกันไป ซึ่งบางจุด บางมุมเราก็รู้ตัวได้ คุม ปรับได้ บางจุด บางมุมเราก็ไม่รู้ตัวเอง คุม ปรับไม่ได้อยู่ สิ่งเหล่านั้นทำให้จุดที่แต่ละคนปรับให้คนอื่นได้แตกต่างกันไปค่ะ เราอาจคิดว่าเรื่องนี้เค้าต้องคิดแบบนี้ แต่มันมีความคิดต่อหนึ่งเรื่องได้หลายมุมค่ะ ถึงความคิด หลักการจะต่างกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตำหนิ ต่อว่ากันให้เสียใจ ทำลายความมั่นใจตนเองกันและกัน สิ่งสำคัญคือการไม่ทำทำร้าย ก้าวก่ายกัน แล้วที่เหลือคุยกัน ประนีประนอมขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องๆไปให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ใจเย็นน่าจะดีกว่าการหวังว่าเค้าจะเข้าใจได้เองค่ะ หากปรับความคิดเป็นเช่นนี้ได้แล้วเราก็จะสามารถยืดหยุ่นให้กับตนเอง คนในครอบครัวและคนรอบข้างได้มากขึ้น เครียด กังวล กดดันน้อยลง คุมอารมณ์ได้มากขึ้น เหวี่ยง หงุดหงิดน้อยลง และสามารถใส่ใจต่อสุขภาพกายใจตนเองและครอบครัวได้ง่ายขึ้นค่ะ

หากคุณแม่ท่านใดที่เหงา ห่อเหี่ยวใจ ขาดอิสระในการใช้ชีวิต ไม่มั่นใจตนเอง ดิฉันแนะนำให้แก้ไปทีละปัญหาค่ะ ลองคิดดูดีๆว่าเราอยากจะทำอย่างไรกับปัญหานั้นและหาวิธีปรับทำได้ง่ายๆ ที่ทำได้ในตอนนั้น และไม่ฝืนตนเองกับคนรอบข้างมากไปก่อนค่ะ เช่นถ้าเหงา ก็ออกไปเดินเล่นเปลี่ยนอากาศรับแสงแดดอ่อนๆบ้าง(ถ้าลูกเล็ก ก็ใส่เป้อุ้มเด็ก ใส่รถเข็นเด็กออกไปเดินเล่นด้วยกันก็ได้ค่ะ เห็นคนญี่ปุ่นทำกันเยอะเลยค่ะ) ถ้าอยากมีความมั่นใจแต่ออกไปทำงานไม่ได้ ก็ทำสิ่งที่ถนัดทีละนิด ฝึกเก็บประสบการณ์ไปก่อนเป็นต้นค่ะ ถ้าลูกยังเล็กร้องบ่อย ก็อ่านหนังสือสะสมความรู้ไปก่อนก็ไม่เสียหายค่ะ การเลี้ยงลูกถ้าไม่มีความสุขเพราะเหนื่อย ก็ต้องดูว่าเหนื่อยเพราะอะไรค่ะ เช่น เหนื่อยเพราะเราต้องทำอะไรเยอะ ก็แบ่งงานเป็นวันไป วันนี้ซักผ้า พรุ่งนี้ซื้อของ สามีช่วยอันนี้นะ พอทำเช่นนี้ความเหนื่อยเพราะวิ่งวุ่นก็น่าจะลดลงได้ค่ะ ถ้าเพราะลูกร้องงอแง ไม่ฟัง ก็ต้องปรับที่ความเข้าใจของเราที่มีต่อลูกค่ะ เราเข้าใจตัวตนลูกแค่ไหน สอนดูแลอย่างไรถึงจะสื่อสารกันเข้าใจ ทำอย่างไรลูกถึงให้ความร่วมมือกับเราได้ เค้ากี่ขวบ วัยเค้าทำอะไรได้ ร่างกายเค้าพร้อมไหม เราต้องดูที่ตัวเราและลูกให้ถ้วนถี่ด้วยค่ะ ดิฉันคิดว่าความมั่นใจและความสุข พลังในการชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเกิดขึ้นได้ถ้าเราเปิดรับทำความเข้าใจตนเองได้ชัดเจนก่อนค่ะ เราจะได้รู้ว่าความสุขของเรามันเป็นแบบไหนและหาทางสร้าง รักษามันไว้ได้ต่อไปเรื่อยๆในการใช้ชีวิตค่ะ

ติดตามลิงค์เพจเฟสบุ๊ค NeoPattaMAMA

Instagram ID : neopattamama

 

ขอบคุณคุณปัทมา ผู้ให้สัมภาษณ์

เรียบเรียงโดย ชุฟุจัง

 

FOLLOW ME !

Facebook Page เพจแม่บ้านญี่ปุ่นสไตล์ชุฟุจัง   

Tiktok คลิปภาษาญี่ปุ่นใช้จริง แนวคิดไลฟ์สไตล์ของชุฟุจัง

LINE Official คอร์สเรียนสนทนาภาษาญี่ปุ่น กลุ่มสร้างแรงกระตุ้นเรียนภาษาญี่ปุ่น

โค้ชชิ่งให้คำปรึกษาสร้างงานอิสระ สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์


★RECOMMEND★
คอร์สออนไลน์สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเล็กในญี่ปุ่น
เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกแบบฉบับคนญี่ปุ่นและภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กับลูก,ใช้ตอนพาไปหาหมอ ฯลฯ
สอนโดย คุณ MAKI HODA ครูเนอสเซอรี่ญี่ปุ่น
ดูรายละเอียดคอร์สได้ที่นี่
ในบทเรียนมีล่ามแปลภาษาไทย พร้อมเอกสารประกอบการเรียนภาษาไทยและญี่ปุ่น
รูปแบบวิดิโอออนไลน์ สะดวกเรียนเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้
เรียนได้ทั้งคุณพ่อญี่ปุ่นและคุณแม่ไทย