[ชีวิตแต่งงานสามีญี่ปุ่น]
สามีญี่ปุ่นได้เงินค่าขนมติดกระเป๋าเฉลี่ยกันเดือนละเท่าไหร่
ถ้าพูดถึงคำว่า ค่าขนม (お小遣い : okozukai โอะโคะซึไค)
เชื่อว่าหลายคนคงจะคิดย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ สมัยใสๆ ในวัยเรียนและแล้วภาพใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มกรุ่มกริ่มตอนที่ได้รับเงินค่าขนมก็ลอยขึ้นมาใช่รึเปล่าคะ
แต่ทราบกันหรือไม่คะว่า ในครอบครัวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าขนมสำหรับลูกเท่านั้นแต่ยังมีค่าขนมสำหรับสามีและภรรยาด้วย ฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ ใช่ไหมคะ
บทความวันนี้ชุฟุจังจะคุยถึงเรื่องค่าขนมของสามีญี่ปุ่น
ขอถามผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเลยละกันนะคะ
ปกติคุณสามีที่บ้านได้รับเงินค่าขนมกันเท่าไหร่เอ่ย??
อ๊ะโห!! เล่นมาถามกันตรงๆ แบบนี้ ใครจะกล้าตอบใช่ไหมคะ
แต่เอาจริงๆ มันเป็นคำถามที่แม่บ้านหลายคนอยากรู้ว่า
ปกติบ้านอื่นกำหนดเงินค่าขนมสามีกันเดือนละเท่าไหร่?
ซึ่งชุฟุจังก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะรู้ด้วยเหมือนกัน (อิอิ)
ว่าแล้วเราไปอ่านกันดูเลยว่า แม่บ้านญี่ปุ่นให้เงินค่าขนมสามีกันเท่าไหร่
ผู้ชายญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่หลังจากแต่งงานมีครอบครัวแล้ว เรื่องการบริหารเงินในบ้านจะมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนตัวเองก็มีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและจะได้รับเงินค่าขนม (お小遣い : okozukai โอะโกะซึไก) สำหรับใช้จ่ายส่วนตัวเอง
กรณีที่ภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เท่าที่ทราบส่วนใหญ่สามีจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด หรือจัดสรรเงินให้ภรรยาแค่บางส่วน เช่น เงินค่าขนมให้ค่าขนมภรรยาเพื่อใช้จ่ายส่วนตัว เงินค่าใช้จ่ายในบ้าน (ค่าอาหาร ค่าข้าวของจิปาถะในบ้าน) บางบ้านให้ภรรยาใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อของที่ต้องการรวมถึงของใช้ในบ้านด้วย
ส่วนค่าขนมของสามีนั้นเขาจะเป็นคนกำหนดเอง แต่ก็มีบางบ้านที่ให้ภรรยาต่างชาติคุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งกรณีนี้ชุฟุจังมองว่าภรรยาที่ทำได้ต้องค่อนข้างละเอียด มีความรับผิดชอบสูงและบริหารเงินได้เก่งทีเดียว ซึ่งชุฟุจังยังไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น 55
สำหรับการกำหนดจำนวนเงินค่าขนมนั้น ไม่มีมาตรฐานตายตัวว่าให้เงินสามีเท่านี้จะน้อยไปหรือมากไป บางบ้านให้สามี 1 หมื่นเยน (ประมาณ 3,000กว่าบาท) บางบ้านให้สามี 30,000-40,000 เยน(ประมาณ 10,000-14,000 บาท) ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นค่าเฉลี่ยที่สามีญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับโดยจะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของครอบครัวในแต่ละเดือน และขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารเงินของภรรยาด้วย
ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นอีกเช่นว่า เงินค่าขนมจำนวนนี้
■ รวมค่าอาหารกลางวันไหม?
■ รวมค่ากินเลี้ยงสังสรรค์กับที่บริษัทหรือที่เรียกว่า 飲み会 (nomikai โนะมิไก) หรือไม่?
นอกจากนี้พฤติกรรมนิสัยการใช้เงินของสามีก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
**แนะนำวิธีกำหนดเงินค่าขนมแบบที่เหมาะสมที่สุด คือ กำหนด 7-10% ของยอดเงินเดือนที่ได้รับหลังหักภาษี**
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าได้รับเงินเดือน 200,000 เยน (20万 นิจูมัง ประมาณ 70,000 บาท) ก็เท่ากับจะได้รับเงินค่าขนม 20,000 เยน(7,000) เป็นต้น
(ปล.หากใครจะแต่งงานกับคนญี่ปุ่น ชุฟุจังคิดว่าอาจจะต้องคุยตกลงกันเรื่องเงินค่าขนมสามีภรรยากันให้ดีก่อนจะดีกว่าค่ะ)
ต่อไปมาดูข้อมูลเงินค่าขนมโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นกันเลยดีกว่า
จากผลสำรวจเกี่ยวกับเงินค่าขนมผู้ชายญี่ปุ่นต่อเดือนโดยธนาคารชินเซ(新生銀行)ในปี 2015 มีดังนี้
เงินค่าขนมโดยเฉลี่ยของซารารี่แมน (มนุษย์เงินเดือน) อยู่ที่ 37,642 เยน (ประมาณ 13,100 บาท) ซึ่งมีจำนวนต่ำกว่าในยุคฟองสบู่แตกในปี 1990 ที่เงินค่าขนมเฉลี่ยอยู่ที่ 77,000 เยน (ประมาณ 39,000 บาท)
ต่อมาในปี 2000 เฉลี่ยอยู่ที่ 59,000 เยน (ประมาณ 20,600 บาท) ปี 2005 เฉลี่ยอยู่ที่ 41,000 เยน (ประมาณ 14,000 บาท) จนมาถึงปี 2015 เฉลี่ยอยู่ที่ 37,000 เยน(ประมาณ 12,900 บาท) จะเห็นว่ามีจำนวนลดลงเรื่อยๆ
เงินค่าขนมโดยเฉลี่ยของซารารี่แมนที่ยังโสด อยู่ที่ 43,573 เยน/เดือน (ประมาณ 15,200 บาท)
เงินค่าขนมสามีโดยเฉลี่ยกรณีไม่มีลูกและทำงานทั้งคู่ อยู่ที่ 41,962 เยน (ประมาณ 14,600 บาท)
เงินค่าขนมสามีโดยเฉลี่ยกรณีไม่มีลูกและภรรยาเป็นแม่บ้าน อยู่ที่ 39,408 เยน (ประมาณ 13,700 บาท)
เงินค่าขนมสามีโดยเฉลี่ยกรณีมีลูกและทำงานทั้งคู่ อยู่ที่ 31,620 เยน (ประมาณ 11,000 บาท)
เงินค่าขนมสามีโดยเฉลี่ยกรณีมีลูกและภรรยาเป็นแม่บ้าน อยู่ที่ 27,006 เยน (ประมาณ 9,400 บาท)
◆เรามาดูกรณีตัวอย่างของสามีภรรยาญี่ปุ่นเรื่องเงินค่าขนมสามีจากคำถามที่ว่าให้เงินค่าขนมสามีเท่าไหร่? สามียอมรับไหม? กำหนดเงินจำนวนนั้นอย่างไร?
① การตกลงยอมรับถือเป็นสิ่งสำคัญ (จากแม่บ้านอายุ 20 ปลายๆ)
จริงๆ เราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้ว ปกติจะบริหารเงินแบบไม่ได้กำหนดเงินค่าขนม จะเป็นแบบว่าพอเงินสดในมือหมดก็จะถอนมาใช้ ที่ใช้วิธีแบบนี้เพราะสามีบอกว่าระบบกำหนดเงินค่าขนมจะทำให้เขาไม่มีแรงกระตุ้นอยากทำงาน ซึ่งฉันก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน ก็เลยใช้ระบบพอเงินหมดก็ถอนมาเติมซึ่งเขาก็ยอมรับและพอใจ ส่วนเงินค่าขนมที่ให้สามีจะสำหรับใช้เป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าบุหรี่ ค่าน้ำมันรถเดินทางไปทำงาน ค่ากินเลี้ยงสังสรรค์กับบริษัท เป็นต้น รวมแล้วก็เป็นจำนวนเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าต้องการของอย่างอื่นนอกจากนี้ก็ต้องมาปรึกษากัน
แต่หลังจากแต่งงานมีลูกแล้ว ช่วงแรกก็คุยกันว่าจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารเงินกันใหม่ และได้บอกกับสามีไว้ล่วงหน้าว่าอาจจะต้องกำหนดเงินค่าขนมตายตัวโดยให้ไปบริหารเอง แต่สุดท้ายก็บริหารแบบเดิมเพราะบริหารแล้วยังมีเหลือใช้ (หมายถึงว่าถ้าบริหารแล้วไม่เหลือ ก็คงต้องกำหนดเงินค่าขนมตายตัว)
②สามีไม่ค่อยอยากได้อะไร เงินค่าขนมให้สามี 15000 เยน (ประมาณ 4,000กว่าบาท) (จากแม่บ้านอายุ 30 ปลายๆ)
ตอนแต่งงานช่วงแรกถ้าเรื่องเงินค่าขนม แต่สามีบอกว่าไม่เอา แต่ฉันรู้สึกไม่ชอบถ้าต้องมายื่นให้ตอนมีค่าใช้จ่ายจุกจิกของสามี ก็เลยเสนอไปให้ 3 หมื่นเยนและฉันรู้สึกตกใจกับสามีเพราะสามีตอบกลับมาว่า ขอแค่ 1 หมื่นเยนก็พอ สามีชอบตีกอล์ฟและจะบอกขอ 1 หมื่นเยนแค่ตอนไปตีกอล์ฟเท่านั้น ก็เลยให้ค่าขนมสามีเดือนละ 1 หมื่นเยน และสามีเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ส่วนอาหารกลางวันก็หิ้วเบนโตะไปกินที่ทำงาน ส่วนค่าเลี้ยงสังสรรค์กับบริษัทนั้นจะมีอยู่แล้วจากการสะสมเงินสำหรับส่วนนี้หักจากเงินเดือน ฉะนั้นจึงไม่ต้องให้เงินส่วนนี้เพิ่ม และฉันให้เงินสามีสำหรับเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดโอนเข้าบัญชีแยกให้ต่างหาก ซึ่งเงินส่วนนี้สามีก็สามารถนำไป ใช้อิสระได้ และหลังจากนั้นฉันก็เพิ่มเงินค่าขนมให้สามีเป็น 1 หมื่น 5 พันเยน เนื่องจากหน้าที่การงานที่สูงขึ้น
มีบางช่วงที่สามียุ่งๆ ก็จะไม่ค่อยได้ไปตีกอล์ฟทำให้ไม่ค่อยได้ใช้เงินค่าขนม และเมื่อเงินโบนัสออกปีละ 2 ครั้ง ฉันก็ยื่นให้ค่าขนมสามีจำนวน 1หมื่น ถึง 2 หมื่นเยน (ประมาณ 3000 ถึง 7000 บาท) สรุปแล้วตอนนี้ฉันรู้สึกว่าสามารถบริหารเงินได้เหลือเก็บเพราะสามีที่ไม่ค่อยฟุ่มเฟือย
③ มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เงินค่าขนมสามีเดือนละ 2 หมื่นเยน (ประมาณ 7000 บาท) (จากแม่บ้านอายุ 20 ปลายๆ)
พอมีลูก เงินค่าขนมสามีเหลือเดือนละ 2 หมื่นเยน ซึ่งก่อนหน้านี้ให้ 3 หมื่นเยน (ประมาณ 10000 บาท)และเพราะเงินเดือนสามีไม่มากเท่าไหร่ จะใช้มากกว่านี้ก็คงลำบาก และถ้าให้เงินค่าขนมสามีมากเกินไปก็จะใช้แบบไม่คิดอะไร ฉะนั้นคิดว่าให้น้อยๆ ไว้จะดีกว่า และถ้าสามีคิดว่าโหดร้ายและไม่พอใจก็คงคิดว่าถ้าอยากใช้เงินมากกว่านี้ก็คงต้องให้สามีทำงานหาเงินให้ได้มากกว่านี้ด้วยเช่นกัน
ต่อจากนี้ไปค่าใช้จ่ายลูกก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะกดเงินค่าขนมสามีเพื่อประหยัดไว้ซึ่งดูเหมือนว่าสามีจะไม่ค่อยพอใจแต่ก็อยากจะให้สามีเรียนรู้วิธีคิดในการใช้เงินในจำนวนที่มีจำกัดด้วย ฉะนั้นอยู่ๆ ถึงแม้จะมาบอกว่า “เงินไม่พอ” ยังไงฉันก็ไม่เพิ่มค่าขนมให้หรอกนะ
④ เพิ่มให้เป็น 9 หมื่นเยนต่อเดือน (ประมาณ 43,000 บาท) (จากแม่บ้านอายุ 40 ปลายๆ)
ก่อนถึงช่วงหลังๆ นี้ให้เงินค่าขนมสามีอยู่ที่ 5 หมื่นเยน และมีให้เงินพิเศษตอนเงินโบนัสออกด้วย งานของสามีคือ ธุรกิจส่วนตัว(自営業 jieigyou) ฉะนั้นจึงไม่มีค่าอาหารกลางวัน แต่ดูเหมือนจะเอาเงินค่าขนมไปใช้กับงานอดิเรกที่ชอบก็คือ การตกปลา ส่วนลูกๆ ก็อยู่ในช่วงวัยที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจึงคิดว่าคงจะดีกว่านี้ถ้าหมุนเงินค่าขนมมาเป็นเงินออมได้อีกสักหน่อยแต่ดูเหมือนว่างานอดิเรกเป็นการคลายเครียดจากงานในแต่ละวัน ฉะนั้นถ้าสามีรีเฟรชแล้วพยายามทำงานได้ดีก็คิดว่าคงปล่อยไปตามนั้น
แต่มีข้อแม้ว่าถ้าใช้เกินจำนวนที่ให้ไปแล้วบอกว่าไม่พอ ก็จะไม่มีการให้เงินค่าขนมเพิ่มอีก เงินส่วนที่ให้ถือว่าเยอะแล้ว ฉะนั้นเท่าเป็นการบอกว่า กรุณาบริหารเงินจำนวนนี้ด้วย แม้ตัวฉันเองถึงจะได้เงินค่าขนมแต่ก็เอาเก็บออมจำนวนหนึ่งและเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ตกปลาราคาแพงๆ ได้อีกด้วย
⑤ ให้สามีบริหารเงินค่าขนมจาก 10% ของเงินเดือน (จากแม่บ้านอายุ 30 ปลายๆ)
เงินเดือนก่อนหน้านี้ได้รับมากกว่าปัจจุบันเป็นจำนวน 1 แสนเยนขึ้นไปก็เลยให้ค่าขนมสามีเดือนละ 5 หมื่นเยน แต่ตอนนี้ลำบากขึ้นกว่าเดิมเพราะเมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีค่าโอทีให้แล้ว และเมื่อเงินเดือนลดลงจึงเป็นมาให้เงินค่าขนมเป็น 10 ของเงินเดือนคือเดือนละ 35,000 เยน (ประมาณ 12,000 บาท) และค่าใช้ง่ายในงานอดิเรกของตัวเองก็ให้ใช้จากเงินค่าขนมนี้ด้วย
สำหรับตอนนี้บริหารเงินโดยการหลีกเลี่ยงไม่ใช้สิ้นเปลือง มีการเลี่ยงออกไปกินข้าวนอกบ้าน สามีเลี้ยงมื้อกลางวันให้พวกเราจากเงินค่าขนมของเขาและซื้อของเล่นให้ลูกด้วย การที่สามีทำแบบนั้นคิดว่าเขาเข้าใจสภาพการเงินของครอบครัวที่ต้องประหยัดช่วยกัน ส่วนตัวฉันเองก็พยายามเก็บเงินโดยไม่ใช้จ่ายจนเกินไป และคิดว่าต้องขอบคุณสามีที่ปรับปรุงวิธีการใช้เงินด้วย
ทีนี้อยากรู้กันไหมคะว่า สามีญี่ปุ่นนำเงินค่าขนมที่ได้รับ ไปทำอะไรบ้าง
(旦那さんのお小遣いの使い道 dannasan no okozukai no tsukaimichi)
ผลสำรวจข้อมูลจากเว็ปไซต์ https://epark.jp สอบถามคุณแม่บ้าน 50 คน ว่าสามีเอาเงินค่าขนมไปใช้ทำอะไร
อันดับ 1 งานอดิเรก กิจกรรมที่ชื่นชอบ (趣味 shumi) 31 เสียง
อันดับ 2 บุหรี่ เหล้าต่างๆ (タバコ、お酒など) 22 เสียง
อันดับ 3 กินเลี้ยงสังสรรค์(飲み会 nomikai ) 21 เสียง
อันดับ 4 อาหารกลางวัน (昼食 chuushoku) 19 เสียง
อันดับ 5 ค่าความบันเทิง (娯楽費 gorakuhi) 13 เสียง (เช่น ปาจิงโกะ เกมส์ คาราโอเกะเป็นต้น)
อันดับ 6 เสื้อผ้า (衣服 ifuku) 8 เสียง
และอื่นๆ 1 เสียง
สามีชุฟุจัง ก็น่าจะอยู่อันดับ 1 เพราะชอบตกปลา ชอบซื้อของที่ตัวเองอยากได้
และ อันดับ 5 ชอบใช้จ่ายตอนไปท่องเที่ยววันหยุดกับครอบครัว เช่น ค่าอนเซน ก็จะใช้กับพวกกินเที่ยวซะเยอะกว่า
ส่วนอันดับ 3 นี่ไม่มีเลย เพราะกินเหล้าไม่เป็น และเป็นคนไม่ชอบสังสรรค์
อ่านบทความแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ
พอจะเห็นภาพโดยรวมเกี่ยวกับการบริหารเงินของภรรยาญี่ปุ่น
และการให้เงินค่าขนมสามีกันไปแล้วใช่ไหมคะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ
แล้วมาพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
ถ้าถูกใจบทความนี้ช่วยกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ชุฟุจังด้วยนะคะ
แปลและเรียบเรียงโดยชุฟุจัง
ที่มาข้อมูล bijoh.com, moomii.jp